วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นวัตกรรมทางการศึกษา

บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเชิงวิเคราะห์ และความคิดเห็นของผู้เรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เรียนจากมัลติมีเดียที่พัฒนาตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง Environment รายวิชาภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 15 คน โดยใช้รูปแบบการวิจัย One-Shot Case Study และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า
1.1 ผลของการคิดเชิงวิเคราะห์ พบว่า ผู้เรียนทุกคนที่เรียนจากมัลติมีเดียที่พัฒนาตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ มีคะแนนเฉลี่ยของการทำแบบวัดการคิดเชิงวิเคราะห์ มีคะแนนเฉลี่ย คือ 7.20 คิดเป็นร้อยละ 80 ของคะแนนเต็ม สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ในเชิงคุณภาพโดยการสำรวจความคิดเห็นและการสัมภาษณ์ ผู้เรียนมีความสามารถในการจำแนกแจกแจงความสามารถในการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล
1.2 ความคิดเห็นของผู้เรียน พบว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นสอดคล้องกันทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านเนื้อหา โดยผู้เรียนเห็นว่าเนื้อหาที่นำเสนอมีความชัดเจน ครอบคลุมและมีเพียงพอสำหรับนำมาประกอบในการแก้ปัญหา ภาษาที่ใช้ในการนำเสนอง่ายต่อการเข้าใจ เนื้อหาที่นำเสนอมีความทันสมัยและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ 2) ด้านคุณลักษณะของมัลติมีเดีย โดยผู้เรียนเห็นว่า การออกแบบหน้าจอมีการใช้สีที่สวยงาม ดึงดูดความสนใจ การนำเข้าสู่บทเรียน สนุกสนาน ตื่นเต้น การใช้ตัวอักษรอ่านง่าย ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่ใช้ประกอบมีความเหมาะสม สอดคล้องกับเนื้อหา เสียงภาษาอังกฤษชัดเจน ฟังเข้าใจง่าย การออกแบบสัญลักษณ์ เช่น ปุ่มบอกทิศทางทำให้เข้าถึง และเชื่อมโยงไปสู่สารสนเทศต่างๆ และตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของนักเรียน 3) ด้านการออกแบบตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ โดยผู้เรียนเห็นว่าการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์และปัญหาช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากค้นหาคำตอบ สามารถนำไปแก้ปัญหาได้ในสถานการณ์จริง ธนาคารข้อมูล ( Data Bank ) มีข้อมูลเพียงพอต่อการค้นคว้าและมีความหลากหลาย ฐานความช่วยเหลือ และผู้ฝึกสอนส่งเสริมให้นักเรียนเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหา และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้และเลือกศึกษาค้นคว้าตามความสนใจ การโต้ตอบระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองหรือผู้ฝึกสอน ช่วยส่งเสริมการขยายแนวคิดและกระตุ้นผู้เรียนในการเรียนรู้ 4) ด้านการส่งเสริมการคิดเชิงวิเคราะห์ โดยผู้เรียนเห็นว่า สถานการณ์ปัญหา ( Problem Based ) ภารกิจ ( Mission ) การนำเสนอข้อมูล ฐานความช่วยเหลือ ( Scaffolding) ธนาคารข้อมูล ( Data Bank ) ช่วยให้นักเรียนแก้ปัญหา และสามารถทำภารกิจได้ ช่วยให้นักเรียนจำแนกและจัดหมวดหมู่ของสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ปัญหาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของนักเรียนและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
1.3 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน พบว่า ผู้เรียนทุกคนที่เรียนจากมัลติมีเดียที่พัฒนาตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ มีคะแนนเฉลี่ยของการทดสอบหลังเรียน 14.53 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 72.65 ของคะแนนเต็ม สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 60

ยุพิน คำภา.(2549). ผลของมัลติมีเดียที่พัฒนาตามแนวคอนสตัคติวิสต์ วิชาภาษาอังกฤษ เรื่อง Environment. รายงานการศึกษาอิสระปริญญาศึกษาศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานครั้งนี้
1. วิธีการค้นหางานวิจัยทางอินเตอร์เน็ต สามารถหาได้อย่างรวดเร็ว มีความหลากหลายของเรื่องที่ทำการวิจัย ทำให้เราสามารถมีตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนางานวิจัยของเราต่อไปได้
2. การเก็บข้อมูล หรือสืบค้นข้อมูลงานวิจัยที่มีคุณภาพ ทำให้เรามีตัวอย่างที่ถูกต้องในการทำวิจัย
3. การอ่าน วิเคราะห์งานวิจัยที่เรามีความรู้ หรือเรามีความเกี่ยวข้องทำให้เรามีความเข้าใจมากขึ้น เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ครูผู้สอนมีความเข้าใจในบริบทได้มากกว่าผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนภาษาอังกฤษ
4.จากบทคัดย่อที่อ่าน ทำให้ทราบว่ามีการใช้เทคนิคการสอนโดยใช้มัลติมีเดีย ที่พัฒนาตามแนวทางคอนสตรัคติวิสต์ ซึ่งไม่เคยได้ยิน หรือเห็นมาก่อน ทำให้มีความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น
5. การใช้สื่อมัลติมีเดีย สามารถกระตุ้นความอยากรู้ เกิดการเรียนรู้ของนักเรียนได้เป็นอย่างดี และส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น